ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่างที่ทราบกันดีว่า น้ำผึ้ง คือของดีมีประโยชน์ จะนำมาประกอบอาหาร หรือทำเป็นยาคุณค่าก็สูงทั้งนั้น แต่น้ำผึ้งแท้ๆ ไม่มีส่วนผสมอื่นเจือปนในปัจจุบันหากินยากขึ้นทุกที สาเหตุหลักคือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติลดน้อยลง ประกอบกับมีผู้รู้วิธีการเลี้ยงและดูแลผึ้งโพรงป่าที่ถูกต้องมีจำนวนน้อย ดังนั้น ตอนนี้หากใครกำลังมองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก การเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจไม่น้อย วิธีการเลี้ยงดูแลไม่ยาก ลงทุนน้อยเปรียบเสมือนคนเลี้ยงเป็นเจ้าของบริษัท ตื่นเช้ามาลูกน้องตื่นออกไปทำงาน ไม่ต้องมีโบนัส สวัสดิการ เพียงดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาด ผลตอบแทนที่ได้คุ้ม
คุณสยาม สกุณนา หรือ อาจารย์สยาม ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า เล่าว่า กว่าจะเป็นมืออาชีพอย่างทุกวันนี้ได้ ตนลองผิดลองถูกมานานกว่า 4 ปี เมื่อก่อนเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเกษตรกรรมอยู่ที่ กศน. จังหวัดพะเยา ต่อมาได้ลาออกไปทำงานบริษัทปุ๋ย หลังจากนั้นลาออกจากบริษัทปุ๋ยอีก ด้วยเหตุผลที่ว่าเบื่องานประจำ เพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนรักอิสระ ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร จึงกลับมาอยู่บ้านที่อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา เช่าที่ทำนาจำนวนกว่าร้อยไร่ แรกๆ ก็ดี เพราะมีพื้นฐานเรื่องปุ๋ยเยอะ ประกอบกับช่วงนั้นราคาข้าวยังดีอยู่ แต่ช่วงหลังๆ ราคาข้าวเริ่มตก จากตันละหมื่นกว่าบาทเหลือเพียงตันละสี่ถึงห้าพันบาท ช่วงนั้นก็เจ๊งเลย เป็นหนี้ล้านกว่าบาท
เริ่มเลี้ยงผึ้งโพรง เพราะเป็น “หนี้”
หลังจากที่เลิกทำนา อาจารย์สยาม เป็นหนี้ธนาคารล้านกว่าบาท ถ้าจะดันทุรังทำเกษตรต่อไปคงไม่ไหว ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ครั้นจะกลับไปทำงานเดิมอายุก็มากแล้ว ช่วงนั้นคือเครียดมาก ไม่รู้จะหันไปทางไหน ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดีเห็นชาวบ้านที่หาผึ้งป่าเป็นอาชีพ วันหนึ่งเขาได้น้ำผึ้ง 20-40 ขวด ต่อวัน เป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ขายราคาบ้านๆ ก็ได้ขวดละ 200 บาท ลองคำนวณดูเล่นๆ วันหนึ่งขายได้ 40 ขวด ตกวันละ 8,000 บาท และประกอบกับที่ตัวเองชอบกินน้ำผึ้งอยู่แล้ว จึงลองเดินเข้าป่าไปหาน้ำผึ้งโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลย ถือว่าเป็นการแก้เครียดไปด้วย ช่วงแรกหาไม่ได้เลย เพราะคิดว่าผึ้งต้องอยู่ตามพุ่มไม้สูงๆ ถามชาวบ้านเขาก็ไม่บอก
เกือบถอดใจ และวันหนึ่งไปนั่งพักเหนื่อยแถวริมห้วย ได้ยินเสียงคล้ายแมลงบินออกมาจากพื้นดิน หลังจากนั้นจึงเข้าใจ ผึ้งรังแรกที่เจอคือเจอในหลุมเป็นผึ้งโพรง จากประสบการณ์ครั้งนั้นจึงต่อยอดมา จากที่หาผึ้งไม่ได้เลยกลายเป็นว่าหาได้มากกว่าชาวบ้านซะอีก หาได้วันละเป็น 10 รัง จึงมีความคิดจะเอาผึ้งป่ามาเลี้ยง เพราะตั้งประเด็นตรงที่ว่าความต้องการของตลาดต้องการสูงมาก หาเท่าไรก็ไม่พอขาย ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเลี้ยงผึ้งป่า
วิธีการเลี้ยง และการดูแล
วิธีการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าไม่ยุ่งยากอะไร เพราะผึ้งที่เราดูแลเป็นผึ้งที่ถูกคัดสายพันธุ์โดยธรรมชาติ มีความแข็งแกร่ง ให้ใช้วิธีคิดง่ายๆ เหมือนกับว่าเราเอาไก่ป่ามาเลี้ยง ตามใจเขา แทนที่เราจะบังคับให้เขาตามใจเรา ลองเอาตัวเองไปเป็นผึ้งป่าดูว่าเขาชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน เราก็จัดเอื้อสิ่งแวดล้อมในรังให้เขาอยู่สบาย หมั่นดูแลความสะอาด กำจัดมด แมลง ด้วยน้ำมันเครื่องเก่าหยอดไปที่ขาตั้งรังผึ้ง ถ้ารังสกปรกยากที่ผึ้งจะอยู่ ไม่ควรใช้ขี้ผึ้งทาในรัง ถือว่าเป็นตัวล่อหนอนแว็ก
หนอนแว็ก ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของผึ้ง เวลาระบาดผึ้งจะไม่ยอมกลับรังแล้วก็หนีรังไปเลย องค์ประกอบหลักที่จะทำให้ผึ้งป่ามาอยู่กับเรา รังต้องดี สบาย ไม่ร้อน ถ้าจะให้ดีความกว้างของรังควรมีความกว้าง 38 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร และยาว 50 เซนติเมตร เจาะโพรงผึ้งให้ถูกตำแหน่ง ผึ้งจะอพยพไปตามแหล่งอาหาร ต้องดูว่าช่วงนี้มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ไหม มีดอกไม้บานทั้งปี อยู่ใกล้แหล่งอาหาร แหล่งน้ำ แบบนี้เข้าตามคุณสมบัติเราก็ทำแหล่งล่อได้
การดูแลนั้น แรกๆ อาจารย์สยามก็ทำเหมือนชาวบ้านเอาไม้มาเจาะโพรงเอาขี้ผึ้งมาทา ผึ้งก็เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ทำ 100 รัง เข้า 10-20 รัง ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่พอเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ทดลองทำกลิ่นล่อผึ้งป่าขึ้นมา เพราะว่าใช้ขี้ผึ้งมันมีข้อจำกัด ขี้ผึ้งก็จะเป็นตัวทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย โดยการใช้กลิ่นล่อผึ้งจากฟีโรโมน ที่เรียนแบบจากต่างประเทศ เปรียบเสมือนกลิ่นผึ้งอพยพ แล้วฉีดสเปรย์สัปดาห์ละครั้ง
ระยะเวลาให้น้ำผึ้ง
ปกติทั่วไปผึ้งจะให้น้ำหวาน 3-4 เดือน ต่อการเก็บน้ำผึ้ง 1 ครั้ง แต่สำหรับอาจารย์สยามจะเก็บเฉพาะน้ำผึ้งเดือน 5 เท่านั้น เพราะช่วงระยะเวลาอื่นน้ำผึ้งคุณภาพจะต่ำ มีความชื้นสูง เก็บรักษาไว้ไม่ได้นาน รสชาติของน้ำผึ้งจะไม่มีความหอมที่หลากหลาย เพราะมีข้อจำกัดคือ ไม่ใช่ฤดูดอกไม้บาน ไม่มีความหลากหลายของมวลพฤกษา รสชาติไม่ค่อยดี จะขายราคาไม่แพงก็ได้
เทคนิคการคั้นน้ำผึ้งแบบพิเศษ ได้น้ำผึ้งใสบริสุทธิ์ เก็บรักษาได้นาน 2 ปี
ถ้าจะให้น้ำผึ้งสะอาด ใสบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งปนเปื้อนเลยต้องเริ่มตั้งแต่การตัดแยกตัวอ่อนออกจากรัง ไม่ให้โดนมือตั้งแต่แรก เมื่อตัดแล้วให้ใช้ถุงพลาสติกห่อเก็บทันทีไม่ให้โดนอากาศ หลังจากนั้นก็เข้าสกัดด้วยเครื่องที่พลังงานแสงอาทิตย์ วิธีที่อาจารย์สยามคิดค้นขึ้นมา ที่นี่จะไม่ใช้การบีบน้ำผึ้งด้วยมือ หรือเครื่องจักร แต่อาจารย์คิดเครื่องสกัดน้ำผึ้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นมาเอง ใช้อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส แล้วปล่อยให้น้ำผึ้งไหลลงมาจนหยดสุดท้าย เพราะฉะนั้นตัวอ่อนจะไม่มีปนน้ำผึ้งเลย ทำให้ได้น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์
การตลาด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์
ต้องบอกก่อนเลยว่า อาจารย์สยามไม่มีหน้าร้าน ตลาดของอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์แล้วติดใจ บอกต่อกันไป อีกส่วนขายผ่านทางสื่อโซเชี่ยล แค่นี้ก็ผลิตไม่ทันขายอยู่แล้ว สาเหตุหลักที่ขายดีถึงทุกวันนี้เพราะด้วยเรื่องของคุณภาพ ถ้าไม่ใช่น้ำผึ้งเดือน 5 ไม่ขาย ด้วยเหตุนี้จึงได้ใจลูกค้า และนอกจากน้ำผึ้งเดือน 5 ยังมีการขายอุปกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าอย่างครบวงจร หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งต่างๆ เช่น
- รังตรงส่วนที่เป็นขี้ผึ้ง นำมาทำขี้ผึ้ง มีคนมารับซื้อถึงที่ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 200-300 บาท เพื่อเอาไปเป็นส่วนผสมของเทียน ทางภาคเหนือเขาเชื่อว่าถ้าเป็นเทียนทำจากผึ้งป่า จะศักดิ์สิทธิ์
- หัวกะทิน้ำผึ้ง ผึ้ง 1 รัง จะมีหัวกะทิแค่ 1-2 รวง เท่านั้น เมื่อกินรสชาติจะหอมหวาน มีคุณค่าสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
- น้ำผึ้งที่เก็บจากเดือน 5 เท่านั้น บรรจุขวด ขนาด 750 ซีซี ราคาขายปลีก ขวดละ 350 บาท
แนะนำเกษตรกรอยากเลี้ยงผึ้งป่าเป็นอาชีพเสริม
อาจารย์สยาม แนะนำว่า สำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริม ทำประมาณ 5-10 รัง ก็สามารถอยู่ได้แล้ว เพราะผึ้ง 1 รัง 1 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 10 ขวด ขวดละ 300 บาท 10 ขวด คิดเป็นเงิน 3,000 บาท 10 รัง คิดเป็นเงิน 30,000 บาท ต่อปี ลงทุนครั้งเดียวใช้ได้นาน ลงทุนเพียง 1,300 บาท สามารถเลี้ยงได้ 1 รัง อุปกรณ์ต้องเป็นรังไม้ได้มาตรฐาน จะใช้ไซซ์ฝรั่งไม่ได้ ต้องเป็นรังไม้เก่าปลอดกลิ่น ไม่ใส่สี ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม แล้วก็ทำให้ระบายอากาศได้ดี
“การเลี้ยงอย่างแรกต้องเรียนรู้และเข้าใจผึ้งก่อน เรียนรู้นิสัยของผึ้งบ้านเรา ถ้าเข้าใจก็ง่าย ต้นทุนปรับใช้ได้ตามที่เราสะดวก ถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจมากๆ เพราะตอนนี้ตลาดผึ้งพันธุ์ภายในประเทศยังไม่พอบริโภค ยิ่งเป็นผึ้งป่ายิ่งหายาก เพราะตอนนี้ข้าราชการ หรือพนักงานเงินเดือน ที่ไม่ค่อยมีเวลาก็เริ่มหันมาสนใจเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพเสริมกันแล้ว ไม่ต้องดูแลมาก” อาจารย์สยาม บอก
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียด โทร. (065) 006-9870 อาจารย์สยาม สกุณนา ยินดีให้คำปรึกษา
Post a Comment