TKP HEADLINE

กศน.ตำบลหัวทุ่ง การทอผ้า

ประวัติความเป็นมาของผ้าตีนจก
การทอผ้าตีนจก เป็นงานหัตถกรรมที่ลูกหลานเมืองลองมีความภูมิใจที่ได้เป็นผู้สืบทอดรูปแบบที่ปรากฏบนผืนผ้า ลวดลายและสีสันที่วิจิตร แสดงถึงความละเอียดประณีตของผู้สืบทอด อันเนื่องมาจากความตั้งใจ และจิตใจที่อ่อนโยน สุขุมเยือกเย็น หล่อหลอมให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่งดงาม ทรงคุณค่ามาช้านาน ลวดลายบนผ้าทอของเมืองลองนั้นจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอันแสดงถึงความยึดมั่นในพระพุธศาสนา รูปสัตว์ ดอกไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆล้วนเป็นตัวแทนและบ่งบอกถึงความสุขเป็นเรื่องราวที่มาจากวิถีชีวิตของชาวเมืองลองทั้งสิ้น
ในอดีตผู้ทอผ้าอำเภอลองเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์และความละเอียดมากอย่างยิ่ง มีการทอผ้าตีนจกเพื่อใช้ต่อกับซิ่นเป็นส่วนใหญ่ ผู้ทอผ้าอำเภอลองปัจจุบันมีเพียงไม่กี่รายที่ยังคงใช้วิถีการทอผ้าตีนจกแบบโบราณ คือ การจกลายด้วยผ้าขนเม่น ซึ่งต้องใช้ฝีมือและความชำนาญ ผ้าตีนจกที่ได้จะเรียบเนียนงดงามแต่ใช้เวลานานมาก ผู้ทอส่วนใหญ่จึงหันมาใช้เทคนิคสมัยใหม่คือการใช้ “เขาฟืม” ซึ่งมีลวดลายสำเร็จรูป เป็นชุดนำไปประกอบบนกี่ทอผ้า แล้วทอโดยวิธียกเขาก็จะทำให้เกิดลวดลายได้ตามแบบ อาจใช้การจกด้ายเส้นยืนด้วยขนเม่นเพียงบางส่วนเท่านั้น ผู้ที่มีความสามารถในการแกะดอกจะมัดเขาลายแบบสำเร็จรูป ลวดลายต่าง ๆ นี้ ขายเป็นชุด เรียกว่า “เครือ” เครือหนึ่งจะทอซิ่นได้สิบกว่าผืนโดยมีด้ายเส้นยืนชุดเดียวกัน เปลี่ยนสีแต่ละผืนได้ด้วยเส้นด้ายประดิษฐ์ การทอผ้าตีนจกด้วยวิธีนี้จะรวดเร็ว และสะดวกขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการทอผ้าตีนจกได้มาก
ผ้าตีนจกอำเภอลอง มีลวดลายนับร้อยลาย ผู้ทอส่วนใหญ่จะคิดค้นลวดลายเลือกสีสันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองโดยการนำลายพื้นฐานมาผสมกัน แต่ขาดการบันทึกชื่อเรียกลายที่คิดค้นขึ้นมาเป็นลายลักอักษรไว้ เพียงแต่บอกต่อๆ กันมา ทำให้ชื่อเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากของเดิม และมีผู้รู้จักน้อยลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมผสมผสานกันกับลวดลายผ้าตีนจกจากถิ่นอื่น จนเกือบจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าลวดลายดั่งเดิมของอำเภอลองคือลายใดบ้าง

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดแพร่. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand