การบริหารจัดการ account

ประวัติ TKP

โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 1: ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยคงเริ่มสัมผัสกับกลิ่นอายของ “ลมหนาว” ที่พัดโชยเข้ามาทำให้รู้สึกถึงอากาศที่เริ่มหนาวเย็น สำหรับผู้ที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่นั้นควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเปียกชื้นสูงกว่าที่อื่น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือ ศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย
อากาศที่แปรปรวนและฤดูฝนที่ยาวนาน ส่งผลให้เราอาจมีช่วงเวลา ที่อุณหภูมิที่ลดต่ำลงหรือมีหน้าหนาวยาวนานกว่าปกติ โรคที่พบได้บ่อยในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปวดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคสุกใส ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันโรคที่มากับฤดูหนาวกันนะคะ

1. ไข้หวัด (Common Cold)

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดที่มือแล้วไปสัมผัสผู้อื่น เชื้อหวัดก็จะติดคนๆนั้น และเมื่อนำไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้อาการของโรค
หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่ สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส แต่สำหรับเด็กมักมีไข้สูงเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก ถ้ามีอาการเกิน 4 วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีอาการอื่นตามมา

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด

เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสได้ จึงทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการอักเสบหรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ซึ่งปกติจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำงานหนัก หรือขาดอาหาร
เมื่อหายจากไข้หวัดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์อื่นได้อีก ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั่นเอง ส่วน “โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)” นั้นมีอาการรุนแรงกว่าและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป


2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (influenza A) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B) ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (influenza C) มีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สูงถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 115,183 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 180.82 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อัตราเสียชีวิต 0.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นเริ่มสูงขึ้นเล็กน้อยและกลับมาสูงขึ้นมากในปี พ.ศ. 2552 โดยพบอัตราป่วยถึง 189 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าหนาวนี้ก็คือกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น โรงเรียน โรงงาน นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

ระยะติดต่อ

ผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อ ต่อไปได้อีก 3 ถึง 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว ในขณะที่เด็กที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ ที่พบบ่อยคือ ไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

ใครบ้างที่เสียงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่

  1. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  4. เด็กที่ทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  5. หญิงที่ตั้งครรภ์ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด และมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป
  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็น
  • อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ควรดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้ รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  • สวมผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด
  • กลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่
เพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้วค่ะ
ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

No comments:

Post a Comment