TKP HEADLINE

MENU

ประเพณีตั้งธรรมเดือนยี่เป็ง


การตั้งธรรมเดือนยี่เป็ง
           การตั้งธรรมเดือนยี่เป็ง เป็นพิธีกรรมที่บรรพบุรุษของชาวภาคเหนือได้สั่งสมความรู้ศิลปะ วิทยาการ สาขาต่าง ๆ ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ของตนเอง คือวัฒนธรรมล้านนา ดังนั้น วัฒนธรรมนี้จึงเป็นวัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวภาคเหนือมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในด้านที่เกี่ยวกับ ภาษา วรรณกรรม ดนตรี นาฏศิลป์  ศรัทธาความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการรับวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ามาใช้มากขึ้นแต่ชาวเหนือส่วนใหญ่ยังคงดำเนินชีวิต โดยยึดถือและปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของประเพณี พื้นบ้านกันอย่างแพร่หลาย

            การตั้งธรรมเดือนยี่เป็ง เป็นประเพณีพื้นบ้านอีกประเพณีหนึ่ง ที่ชาวเด่นชัยให้ความสำคัญและปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปี ชื่อประเพณี “การตั้งธรรมเดือนยี่เป็ง”เป็นคำที่นิยมเรียกกันในอดีต แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเป็นนิยมเรียกว่า “การฟังธรรมเดือนยี่เป็ง” หรือ “การเทศน์มหาชาติ”

เดือนยี่ของชาวเหนือจึงเป็นเดือนสิบสองของภาคกลาง ส่วนคำว่า    “ เป็ง ” เป็นคำในภาษาคำเมืองหมายถึง พระจันทร์เต็มดวง ดังนั้นวัน    “ ยี่เป็ง ” จึงหมายถึงวันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนยี่ หรือเดือน     สิบสองของภาคกลาง ซึ่งก็คือวันลอยกระทง ที่เป็นวันที่รู้จักกันโดยทั่วไป

                        การตั้งธรรม ตามความหมายคือการนิมนต์ พระภิกษุสงฆ์ ให้แสดงธรรมเทศนาเพื่อที่จะอบรม สั่งสอน กล่อมเกลาจิตใจชาวบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชน ให้เป็นคนดีโดยธรรมะที่นำมาแสดงธรรมเทศนานั้น จะมีหลายเรื่องแล้วแต่ผู้นิมนต์จะกำหนด หรือพระสงฆ์เห็นสมควรว่าจะแสดงธรรมะในเรื่องใด สำหรับการตั้งธรรมเดือนยี่เป็งของชาวเด่นชัยนั้น เป็นการแสดงเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นชาดกชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในการเทศน์นี้จะแบ่งกัณฑ์เทศน์ออกเป็น 13 ผูก หรือ 13 กัณฑ์ ดังนี้

ผูกที่ 1 กัณฑ์ทศพร   ผูกที่ 2 กัณฑ์หิมพานต์

ผูกที่ 3 กัณฑ์ทานกัณฑ์  ผูกที่ 4 กัณฑ์วนปเวศน์

ผูกที่ 5 กัณฑ์ชูชก  ผูกที่ 6 กัณฑ์จุลพน

ผูกที่ 7 กัณฑ์มหาพน  ผูกที่ 8 กัณฑ์กุมาร

ผูกที่ 9 กัณฑ์มัทรี ผูกที่ 10 กัณฑ์สัตกบรรพ

ผูกที่ 11 กัณฑ์มหาราช  ผูกที่ 12 กัณฑ์ฉกษัตริย์

ผูกที่ 13 กัณฑ์นครกัณฑ์

คำว่า “ ผูก ” เป็นการเรียกคัมภีร์ธรรมะ ที่เขียนบนใบลานแล้วรวมมัดด้วยเชือกเป็นเรื่อง ๆ แต่ละเรื่องที่รวมกันเรียกว่า “ 1 ผูก ”

                         กัณฑ์เทศน์ และตั้งกัณฑ์เทศน์ โดยดำเนินการเหมือนกับกัณฑ์แรก การฟังธรรมเดือนยี่เป็งในช่วงวันแรกอาจฟังในช่วงเช้าถึงบ่าย เมื่อจบผูกแล้วและเวลาสมควรวัดจะหยุดพักให้ชาวบ้านไปประกอบกิจการงานอื่น กัณฑ์ที่เหลือจะทำในวันต่อไป และหยุดในช่วงบ่ายเช่นกัน จนถึงวันยี่เป็งหรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสองนั้น จะฟังธรรมผูกที่เหลืออยู่ตั้งแต่เช้าจนถึงผูกที่ 13 ซึ่งอาจจะจบในค่อนรุ่งของอีกวันหนึ่ง

                การตั้งธรรมจะเริ่มประมาณวันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งแต่ละวัดอาจกำหนดวันเริ่มต่างกัน บางวัดอาจเริ่มก่อนนี้หรือหลังจากนี้ โดยในตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นจึงจะเริ่มต้นเทศน์มหาชาติโดย จะจัดขึ้นในวิหาร ผู้เริ่มดำเนินพิธี คือผู้ที่ชาวบ้านนับถือและผ่านการบวชเรียนมาแล้วเรียกว่าอาจารย์ จะเป็นผู้นิมนต์พระสงฆ์ หรือ สามเณรที่ทางวัดกำหนดเป็นองค์เทศน์ขึ้นธรรมมาสน์  ธรรมมาสน์ ซึ่งเป็นอาสนสงฆ์ที่สร้างอย่างงดงาม ชาวบ้าน หรือครอบครัวใดที่เป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์ จัดตั้งกัณฑ์เทศน์ไว้ต่อหน้าธรรมมาสน์ แล้วจุดธูปเทียนบูชากัณฑ์ โดยเฉพาะเทียนหรือว่าชาวบ้านเรียกว่า สีผึ้ง นั้นให้จุดครบตามจำนวนเท่ากับคาถาประจำผูก   นั้น ๆ ซึ่งแต่ละผูกจะมีคาถาไม่เท่ากัน หลังจากนั้นอาจารย์นิมนต์พระสงฆ์เทศน์โดยเริ่มตั้งแต่ กัณฑ์ทศพร และเมื่อเทศน์จบ แต่ละกัณฑ์ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของกัณฑ์กราบและถวายกัณฑ์เทศน์ ในขณะที่ด้านนอกของวิหารจะมี การจุดประทัด และตีกลองปูจา เป็นการบอกให้ทราบว่าเทศน์จบผูกแล้ว เจ้าของธรรมผูกต่อไปจัดเตรียมการฟังธรรมเดือนยี่เป็งนั้น ชาวบ้านที่มาฟังธรรมนอกจากผู้ที่เป็นเจ้าของธรรม แต่ละผูก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ฟังจนจบผูกของตนแล้ว  คนอื่น ๆ ที่ว่างหรือคนแก่คนเฒ่าก็มาฟังร่วมกัน เมื่อเหนื่อยอยากพักผ่อนก็กลับไปนอนที่บ้านได้ หลังจากนั้นจึงกลับมาฟังใหม่ แต่อาจมีบางคนที่ฟังตลอดครบ 13 กัณฑ์ โดยมีความเชื่อว่าถ้าฟังครบทั้งหมดในคราวเดียวกัน จะทำให้ได้รับบุญกุศลมากเมื่อตายไปจะได้ไปเกิดในชาติภพที่ดีหรือ ได้ไปเกิดในยุคของพระศรีอารยเมตรัย

               ส่วนชาวบ้านนอกจากจะได้ฟังธรรมะซึ่งเป็นการกล่อมเกลา จิตใจแล้ว การที่ต้องจัดเตรียมกัณฑ์เทศน์ การไปร่วมฟังธรรมะทำให้เกิดการรวมกลุ่ม สร้างความสามัคคีให้คนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี ปัจจุบันการตั้งธรรมเดือนยี่ ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมา แต่กลุ่มคนที่ไปร่วมฟังส่วนใหญ่จะเป็น คนแก่คนเฒ่ามากกว่าเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาการฟังธรรมดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ตรงกับวันหยุด   การเทศน์มหาชาติ ในปัจจุบันนิยมทำให้เสร็จใน 1 วัน 1 คืน จึงทำให้หนุ่มสาวติดภารกิจการทำงานไม่สามารถไปฟังได้ ดังนั้นประเพณีการฟังธรรมเดือนยี่จึงไม่คึกคักเช่นในอดีต แต่ก็ยังเป็นประเพณีที่ชาวอำเภอเด่นชัยทุกหมู่บ้านต้องทำกันต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจและศรัทธาความเชื่อในศาสนาจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกันสืบทอด ประเพณีนี้สืบไป

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดแพร่. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand