TKP HEADLINE

วิธีปลูกหม่อนง่ายๆ ลูกใหญ่-ดก-เก็บกินได้นอกฤดู แค่ “โน้มกิ่ง”

ต้นหม่อน หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “มัลเบอร์รี่” (mulberry) เป็นไม้ยืนต้น ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นปอสา ขนุน และโพธิ์ ฯลฯ มีคุณค่าทางแร่ธาตุและวิตามินมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทุกวันนี้ใบและผลหม่อนจึงถูกนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ “อาหาร และเครื่องดื่ม” หลากหลายรูปแบบ เช่น ชาวอีสานยังนิยมนำยอดหม่อนและใบหม่อนมาปรุงใส่อาหารเมนูพื้นบ้าน เช่น ต้มยำไก่ ฯลฯ นอกจากนี้ ใบหม่อน ยังสามารถแปรรูปเป็นชาชงดื่ม เพื่อลดความดันโลหิตสูง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
หม่อนลูกผสมที่ให้ผลผลิตใบสูง และผลมีขนาดใหญ่น่ากินนั้นได้แก่ บุรีรัมย์ 60, นครราชสีมา 60, ศรีสะเกษ 33, จีน เบอร์ 44 และหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่
บางบ้านปลูกหม่อนไว้ติดผลดีพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับดก ได้ยินมาว่า “วิธีโน้มกิ่ง” บังคับให้ออกผลนอกฤดูนั้นมีทำให้หม่อนออกผลได้ดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เรามีวิธีมาฝากกัน
หม่อนที่ติดผลดีที่สุดคือ พันธุ์เชียงใหม่ หรือนิยมเรียกว่า หม่อนผลสด หม่อนพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ประโยชน์ของผลหม่อนใช้ทำแยม น้ำผลหม่อน และไวน์ หม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่มีผู้นำมาจากจีน และปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่มานานแล้ว
การขยายพันธุ์นิยมใช้วิธีเพาะชำ หม่อนให้ผลเมื่อมีอายุครบ 3 ปี หม่อนพันธุ์เชียงใหม่มีดอกเพศผู้และเพศเมียในต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้ ออกเป็นช่อ แต่ละดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ หลังดอกบานก้านเกสรตัวผู้จะยืดยาวออกและขับละอองแตกปล่อยเกสรสีเหลืองไปผสมกับเกสรตัวเมีย ดอกตัวเมียจะออกเป็นช่อเช่นเดียวกับเกสรตัวผู้ กลีบดอกมี 4 กลีบ ห่อหุ้มรังไข่ ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียไว้ ในรังไข่มีไข่อ่อน ส่วนปลายสุดคือ ยอดเกสรตัวเมีย ดอกที่ได้รับการผสมเกสรแล้วจะพัฒนาเป็นผลต่อไป
ผลที่ได้เรียกว่า ผลรวม ลักษณะรูปร่างคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ ผลอ่อนมีสีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง และสีดำคล้ำ ในธรรมชาติหม่อนจะออกดอกต้นเดือนมกราคม ผลจะสุกแก่ในเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน แต่ปัจจุบันมีการค้นพบวิธีโน้มกิ่ง ลิดใบให้หม่อนออกดอกนอกฤดูได้
การปลูกหม่อนผลสด ใช้วิธีเดียวกับการปลูกไม้พุ่มทั่วไป ระยะปลูกที่ให้ผลดีที่สุดคือ 0.75×2.0 เมตร การโน้มกิ่งเป็นวิธีบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูเพื่อเพิ่มผลผลิต หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนเมษายน ตัดแต่งกิ่งให้เตี้ยลง มีความสูง 70-100 เซนติเมตร
ต่อมาจะแตกกิ่งก้านใหม่ ปล่อยให้เจริญเติบโตพร้อมบำรุงให้สมบูรณ์จนครบ 6 เดือน กิ่งเกิดใหม่สูงประมาณ 1.50 เมตร จึงลิดใบและตัดยอดทิ้งประมาณ 30 เซนติเมตร รวบกิ่งของต้นตรงข้ามของแต่ละแถว ผูกมัดในลักษณะเป็นอุโมงค์ หรือกระโจมด้วยเชือกหรือลวด ภายใน 2 สัปดาห์ จะเริ่มให้ดอกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเวลา 60 วัน หลังจากออกดอกแล้ว จากนั้นสามารถเก็บผลได้อีกเป็นเวลา 30 วัน
เมื่อดอกเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลดำ ให้เก็บผลด้วยมือบรรจุลงในภาชนะ ทับกันไม่เกิน 2 ชั้น นำเข้าเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หากเก็บที่อุณหภูมิ – 22 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน ก่อนเก็บในห้องเย็นควรบรรจุในถุงพลาสติกใส ขนาดบรรจุ 10 กิโลกรัม จะคงคุณภาพของผลได้ดี
โรคสำคัญของหม่อนผลสด เช่น โรครากเน่า ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำความเสียหายให้หม่อนได้ทุกช่วงอายุ การระบาดรุนแรงจะทำให้ต้นหม่อนตายทั้งแปลง ระยะแรกใบจะเหี่ยวคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาใบจะเริ่มเหี่ยวจากส่วนยอดลงมา เมื่อขุดนำรากขึ้นมาพบว่า รากเน่าเปื่อย มีสีน้ำตาลปนดำ เปลือกรากและเปลือกบริเวณโคนต้นหลุดออกมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้ขุดต้นทั้งรากขึ้นมาเผาทำลายทิ้งไป ใส่ปูนขาวลงบริเวณหลุม พร้อมตากดินทิ้งไว้ 1-2 เดือน ก่อนการปลูกซ่อม ระหว่างพรวนดิน หลังการใส่ปุ๋ยระวังอย่าให้ต้นหม่อนเกิดบาดแผล การตัดแต่งกิ่งควรใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ที่คมและสะอาด คือก่อนและหลังตัดกิ่งต้องทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งในเขตที่มีโรครากเน่าระบาด ให้ปลูกด้วยกิ่งพันธุ์ที่ใช้พันธุ์ บร.4/2 เป็นต้นตอ และติดตาด้วยพันธุ์เชียงใหม่ การระบาดของโรคจะหมดไปในที่สุด

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดแพร่. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand