TKP HEADLINE

โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 1: ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่

ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยคงเริ่มสัมผัสกับกลิ่นอายของ “ลมหนาว” ที่พัดโชยเข้ามาทำให้รู้สึกถึงอากาศที่เริ่มหนาวเย็น สำหรับผู้ที่ยังคงประสบภัยน้ำท่วมอยู่นั้นควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลสุขภาพเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความเปียกชื้นสูงกว่าที่อื่น ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น วัด โรงเรียน หรือ ศูนย์อพยพ หากไม่ป้องกันให้ดีแล้วอาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย
อากาศที่แปรปรวนและฤดูฝนที่ยาวนาน ส่งผลให้เราอาจมีช่วงเวลา ที่อุณหภูมิที่ลดต่ำลงหรือมีหน้าหนาวยาวนานกว่าปกติ โรคที่พบได้บ่อยในฤดูหนาวส่วนใหญ่จะเป็นโรค ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปวดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคสุกใส ดังนั้นเรามาเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันโรคที่มากับฤดูหนาวกันนะคะ

1. ไข้หวัด (Common Cold)

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่เกิดได้ตลอดทั้งปี พบบ่อยในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ติดต่อโดยการไอ หรือหายใจรดกัน หรือจากการสัมผัส เมื่อมีเชื้อหวัดติดที่มือแล้วไปสัมผัสผู้อื่น เชื้อหวัดก็จะติดคนๆนั้น และเมื่อนำไปขยี้ตาหรือแคะจมูกก็จะเข้าสู่ร่างกายจนกลายเป็นไข้หวัดได้อาการของโรค
หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 3 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ อาการที่พบบ่อยคือ ไข้ตัวร้อนเป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งหรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่ สำหรับผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกใส แต่สำหรับเด็กมักมีไข้สูงเฉียบพลัน นอกจากนี้อาจเกิดอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก ถ้ามีอาการเกิน 4 วันอาจพบเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ถ่ายเป็นมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว และอาจมีอาการอื่นตามมา

โรคแทรกซ้อนของไข้หวัด

เมื่อป่วยเป็นไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง ทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจมีโอกาสแพร่เชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสได้ จึงทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ สำหรับเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ได้ บางรายเสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะเนื่องจากอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ภายในหูเกิดการอักเสบหรือที่เรียกว่า “หวัดลงหู” ซึ่งปกติจะหายได้เองภายใน 3 ถึง 5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดกับคนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำงานหนัก หรือขาดอาหาร
เมื่อหายจากไข้หวัดแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดชนิดนั้น แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดมีหลายสายพันธุ์แตกต่างกันตามช่วงเวลา ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์อื่นได้อีก ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้หวัดด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั่นเอง ส่วน “โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)” นั้นมีอาการรุนแรงกว่าและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป


2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (influenza virus) หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ (influenza A) และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี (influenza B) ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี (influenza C) มีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สูงถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 115,183 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 180.82 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อัตราเสียชีวิต 0.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2549 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นเริ่มสูงขึ้นเล็กน้อยและกลับมาสูงขึ้นมากในปี พ.ศ. 2552 โดยพบอัตราป่วยถึง 189 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในช่วงหน้าหนาวนี้ก็คือกลุ่มเด็กเล็กซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การติดต่อ

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เช่น โรงเรียน โรงงาน นอกจากนี้เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย หรือติดต่อจากมือที่มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วนำไปสัมผัสที่จมูกหรือปากทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้

ระยะติดต่อ

ผู้ใหญ่ที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนที่จะมีอาการ และสามารถแพร่เชื้อ ต่อไปได้อีก 3 ถึง 5 วันหลังจากที่มีอาการแล้ว ในขณะที่เด็กที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ ที่พบบ่อยคือ ไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

ใครบ้างที่เสียงต่อการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่

  1. ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  3. เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
  4. เด็กที่ทานยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
  5. หญิงที่ตั้งครรภ์ในฤดูกาลที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด และมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

การป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป
  • ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็น
  • อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
  • ควรดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้ รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  • สวมผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด
  • กลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่
เพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถป้องกันตนเองและคนที่ท่านรักให้ห่างไกลจากโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้แล้วค่ะ
ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
ขอขอบคุณ : ที่ปรึกษาบทความ : นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ

5 วิธีรับมือหน้าหนาว เพื่อผิวสวย สุขภาพดีอยู่เสมอ

เมื่อหน้าหนาวมาถึง สาวๆ ต้องเจอปัญหาด้านสุขภาพผิวที่มีทั้งแห้งแตก ลอกเป็นขุย ถึงแม้เมืองไทยจะหนาวไม่นานก็เถอะ แต่สาวๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเจอปัญหาแบบนี้แน่นอน เพราะฉะนั้นเรามาเตรียมรับมือกับหน้าหนาวด้วย 5 วิธีนี้กันดีกว่า
1.อาบน้ำอุ่น
ไม่ใช่การอาบน้ำที่อุ่นจัดนะ แต่หมายถึงการได้อาบน้ำที่อุ่นพอดีๆ เพื่อให้รูขุมขนเปิดรับการชำระล้างที่สะอาดหมดจด และพร้อมที่จะรับการบำรุงได้อย่างเต็มที่ หากมีเวลาก็อาจไปร้านสปาเพื่อทำการนวดน้ำมันให้ผิวเนียนนุ่มและผ่อนคลาย หรือก่อนทำสปาอาจมีการแช่ออนเซ็นที่เหมาะกับหน้าหนาวก็ได้
2.ทาครีม
การเลือกทาครีมก็สำคัญ เพราะในช่วงหน้าร้อนเราอาจเลือกใช้ครีมบำรุงผิวแบบเจล เพื่อไม่ให้ผิวเราเหนอะหนะ แต่ในช่วงหน้าหนาวนั้นเราไม่สามารถใช้แบบเจลได้ แม้ว่าคุณจะบอกว่าคุณเป็นคนผิวมัน แต่เชื่อเถอะในช่วงหน้าหนาว ผิวมันแค่ไหนก็แห้งได้ เพราะฉะนั้นควรเลือกครีมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น หรืออาจใช้น้ำมันมะพร้าวทาผิวเพื่อกักเก็บความชุ่มชื่นใต้ผิวจะดีกว่า
3.ใช้ปิโตรเลี่ยมเจลลี่เป็นประจำ
ปิโตรเลี่ยมเจลลี่ มีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ เพราะปิโตรเลี่ยมเจลลี่จะช่วยในการกักเก็บความชุ่มชื่นของผิวได้อย่างดี ไม่ใช่แค่ริมฝีปาก แต่สามารถใช้ทาได้แทบทั้งร่างกายเลยทีเดียว โดยอาจลองพกกระปุกเล็กๆ ติดกระเป๋าไว้ หรือจะตักแบ่งจากกระปุกใหญ่ใส่ในตลับยา พกติดกระเป๋าไว้ใช้ระหว่างวันก็ได้เหมือนกัน

Advertisement
4.ไม่อดอาหาร
สาวๆ ที่กำลังลดน้ำหนักอาจมีการงดอาหารบางประเภท เช่น ไขมัน แป้งต่างๆ แต่การอดอาหารจนมากเกินไป ก็ทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่จำเป็นได้ และส่งผลให้ผิวแห้งกรานได้ง่ายเมื่อเจอกับอากาศหนาวเย็น ดังนั้นหากอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนัก ไม่ควรงดกิน แต่ควรเลือกกิน เช่น ไขมันดี แป้งไม่ขัดขาว เพียงเท่านี้ก็ลดน้ำหนักได้โดยไม่ทำร้ายผิวแล้ว
5.ดื่มน้ำให้มาก
ในช่วงหน้าหนาว อากาศที่เย็นอาจไม่ทำให้เรารู้สึกหิวน้ำมากเหมือนช่วงหน้าร้อน แต่ความเป็นจริงร่างกายของเราก็ต้องการน้ำไม่ต่างกัน เพียงแต่เราอาจปรับเปลี่ยนจากการกินน้ำเย็น เป็นน้ำที่อุ่นขึ้นมาสักนิดเพื่อไล่ความเย็น อาจใส่มะนาวกับน้ำผึ้งลงไปในน้ำเพื่อให้คอชุ่มชื่นขึ้นและดับกระหายได้ด้วย
รู้แบบนี้แล้วเมื่อถึงช่วงที่ลมหนาวพัดมาสาวๆ ก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าผิวจะแห้งแตก และลอกเป็นขุยหรือไม่ แค่เราเอาใจใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หมั่นดูแลผิวตามวิธีข้างต้นเป็นประจำ แม้อากาศหนาวแค่ไหนก็มีผิวสวยได้แน่นอน

7 ข้อปฏิบัติ เตรียมพร้อมร่างกาย เพื่อรับมือกับฤดูหนาวของไทย


ช่วงปลายเดือนธันวาคม เข้าเดือนมกราคมเมื่อไร สัญญาณความหนาวก็เริ่มส่งมาทันที ทำให้หลายๆคนอาจจะเจอปัญหาด้านผิวพรรณ และเจ็บป่วยได้ ดังนั้นทางที่ดีเราก็ควรจะเตรียมตัวรับมือกับฤดูหนาวเพื่อให้มีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บด้วย 7 ข้อปฏิบัติดี ๆ ดังนี้

1. ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ว่าอากาศจะหนาวเย็นแค่ไหน ก็สามารถออกกำลังกายได้เสมอ เพียงใส่ชุดให้อบอุ่นแล้วออกมาวิ่งจ๊อกกิ้ง แอโรบิค หรือจะโยคะก็ได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายของคุณได้อีกด้วย

2. มือเท้าต้องมีความอบอุ่น

อากาศหนาว ต้องทำให้ร่างกายอบอุ่นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อกันหนาวและกางเกงขายาว ที่สำคัญควรใส่ถุงมือและถุงเท้าเพื่อให้เกิดความอบอุ่นมากขึ้น เพราะมือและเท้านั้นเป็นแหล่งรวมเส้นประสาท หากปล่อยให้เย็นจนแข็งก็อาจทำให้ไม่ค่อยสบายได้

3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

เมื่อเข้าฤดูหนาว คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสบาย จึงควรป้องกันตัวเองด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ครบ 5 หมู่ และเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เต้าหู้ ไข่ และธัญพืชเพราะธาตุเหล็กจะช่วยป้องกันโรคหวัดและเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้

4. รับประทานวิตามิน

สำหรับผู้ที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเมื่อเจอกับอากาศหนาว อาจจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์พร้อมๆไปกับการรับประทานวิตามิน เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี เพราะวิตามินเหล่านี้สามารถช่วยให้ห่างไกลจากการเป็นหวัดได้

5. ไม่ควรอาบน้ำอุ่นจัด

เนื่องจากการอาบน้ำอุ่นจัดจะทำให้ความชุ่มชื้นของผิวหายไป และควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่มีฟองมาก ๆ เพราะจะดึงความชุ่มชื้นออกไปจากผิว ไม่ควรเช็ดถูผิวแรง ๆ อาจทำให้ผิวลอกมากขึ้น ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องสระผมบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้หนังศีรษะแห้งเกินไปจนเกิดรังแคได้

6. บำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

การทาโลชั่นบำรุงผิวหลังอาบน้ำขณะที่ตัวยังหมาด ๆ จะช่วยป้องกันผิวไม่ให้แห้ง แตก ลอก ในฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญควรทาให้ทั่วร่างกาย เพราะถ้าทาไม่ทั่วอาจทำให้ผิวแห้งลอกเฉพาะจุดได้ และควรทาลิปบาล์มที่ปากด้วย จะช่วยทำให้ปากชุ่มชื้นไปได้ตลอดทั้งวัน

7. ดื่มเครื่องดื่มที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

ก่อนนอนควรจะดื่มน้ำอุ่น ๆหรือนมอุ่นๆ จะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้มาก และยังจะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วย
อย่าลืม 7 ข้อทำได้ไม่ยาก ถ้าอยากมีสุขภาพดี ซึ่งเพียงแค่ปฏิบัติตามทั้ง 7 ข้อดีเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง คุณก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีตลอดฤดูหนาวนี้แน่นอน

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HonestDocs พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

หนาวนี้ ดีต่อร่างกายอย่างไร


อากาศหนาวหลายคนอาจไม่ชอบ แต่หลายคนก็ชอบที่จะสัมผัสอากาศหนาว อย่างช่วงสิ้นปีทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยมีอากาศหนาว แต่เคยรู้ไหมว่าอากาศหนาวเย็นแบบนี้มันดีต่อร่างกายของคนเราจริง ๆ นะ  อยากรู้ว่ามันดีอย่างไรก็ต้องลองมาทางนี้กันนะคะ 

 สิ่งที่ควรรู้ก็คือ “ ข้อดีของอากาศหนาว ”
https://pixabay.com
อากาศหนาว ๆ นี้มีข้อดีด้วยนะคะ อย่างเช่น คนที่ชอบเล่นกีฬา อากาศหนาวช่วยลดหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ เพราะว่าในฤดูหนาว ถ้าเราเกิดการเจ็บปวด  จะทำให้ร่างกายของคนเรามี  “ฮอร์โมนนอร์อะดรีนาลีน”  ในร่างกายพุ่งขึ้นถึง 3 เท่า ทำให้หลอดเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะภายในต่าง  ๆ  เกิดการบีบตัว ความดันเลือดสูงขึ้น จุดไหนที่มีอาการเจ็บปวดก็จะค่อย ๆ มีเลือดไปหล่อเลี้ยง  ทำให้อาการเจ็บปวดลดลงเรื่อย ๆ นั่นเองค่ะ
https://pixabay.com

 และนอกจากนั้น อากาศหนาวยังเหมาะแก่การออกกำลังกายอีกด้วยนะคะ  เพราะมีผลการสำรวจว่าร่างกายของเราจะอึดต่อการออกกำลังกายในฤดูหนาวมากที่สุด
                อากาศหนาวช่วยให้สภาวะจิตใจของผู้คนดีขึ้นมากกว่าเดิม เพราะในรอบปีแต่ละครั้งจะเจอทั้งฤดูฝนที่เปียกแฉะ จะออกไปเดินเล่นที่ ๆ เราชอบก็ไม่ได้  มัวแต่คิดกังวลว่าวันนี้ฝนจะตกไหม ถ้าออกไปไม่อยากพกร่มไปด้วยคงต้องเปียกแน่  ๆ  แน่นอนว่าสาว ๆ หนุ่ม ๆ  คงไม่ชอบตัวเปียกเวลาออกนอกบ้าน หน้าที่แต่งมาเลอะบ้าง เครื่องสำอางไหลย้อย และและในฤดูร้อนสาว ๆ หนุ่ม ๆ หรือคนทั่วไปก็ไม่ชอบเช่นกัน และก็คงมาสาเหตุเหมือน ๆ กันคือ  ออกนอกบ้านร้อน แดดจ้า ผิวเสีย ทำให้เราเก็บตัวอยู่ในบ้านอย่างเดียว แต่แตกต่างกับฤดูหนาว ถึงจะหนาวแต่บรรยากาศด้านนอกก็ยังคงดึงดูดให้เราออกนอกบ้านอยู่ดี
                อากาศหนาวสามารถเบิร์นแคลอรี่ได้มากกว่าเดิม  เพราะในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเย็น ๆ ไขมันสีน้ำตาลหรือบราวน์แฟต  ซึ่งเป็นไขมันที่มีอยู่ในร่างกายเราอยู่แล้ว  และมันมีหน้าที่เผาผลาญไขมันที่ร่างกายเราสะสมไว้ให้เป็นพลังงานความร้อน เพื่อสร้างให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย   และจะทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งก็เท่ากับว่าร่างกายจะมีโอกาสได้เผาผลาญไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นการออกกำลังกายในช่วงหน้าหนาวจึงเหมาะสมอย่างยิ่งค่ะ
                ในช่วงอากาศหนาวแบบนี้จะสามารถลดพาหะการติดเชื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น เป็นการติดเชื้อหรือพาหะต่าง ๆ เช่น จากยุง อากาศหนาวทำให้ยุงลดน้อยลง  ทำให้ร่างกายปราศจากการติดเชื้อมากกว่าฤดูอื่น ๆ

                ได้รู้เรื่องราวดี ๆ ของฤดูหนาวไปแล้ว  หวังว่าหลายคนที่ไม่ชอบฤดูหนาวจะหันมาชอบฤดูหนาวกันบ้างนะคะ  เพราะฤดูหนาวให้สุขภาพร่างกายที่ดีแก่เราได้เหมือนกัน  ไม่ใช่ว่าฤดูหนาวจะมีแค่อากาศหนาว ๆ เท่านั้นค่ะ 


เรียบเรียงโดย   เกศราภรณ์   พลศรีดา
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  http://design.drr.go.th/

รู้ทัน...ป้องกันภัยหน้าหนาว

เรื่องโดย  :  เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ team content www.thaihealth.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข และ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 
แฟ้มภาพ
ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว บริเวณพื้นที่สูง บนยอดดอย อุณหภูมิเริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ได้เริ่มมีลมเย็นให้คนเมืองได้สัมผัสไอหนาวกันบ้างแล้ว ส่วนจะหนาวยาวนานกี่วันนั้น เป็นเรื่องที่คนกรุงยังต้องลุ้นต่อไป  
อย่างไรก็ตาม ฤดูหนาวที่มาเยือนนี้ นอกจากภัยสุขภาพแล้ว ก็ยังมีภัยใกล้ตัวอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆในฤดูหนาว วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. มีวิธีการป้องกันเพื่อให้รู้เท่าทันรับมือภัยหน้าหนาวปีนี้ ดังต่อไปนี้ค่ะ   
1.เลี่ยงอาบน้ำเย็นจัดเสี่ยงช็อก
ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น หรือบริเวณยอดเขาที่มีอุณหภูมิต่ำมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนว่า ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่เย็นจัด เพราะจะเสี่ยงต่อภาวะช็อก ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับน้ำ หรืออุณหภูมิที่เย็นจัด โดยไม่ได้เตรียมตัวหรือให้ร่างกายปรับตัวก่อน ระบบประสาทจึงมีการตอบสนองอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก อีกทั้งความเย็นจัดแบบฉับพลันนี้ จะทำให้เส้นเลือดหดตัวเร็ว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ เกิดอาการหมดสติได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นจัด หรือหากจำเป็นควรเช็ดตัวก่อน หรือค่อยๆ อาบใช้น้ำลูบตัว เพื่อให้ร่างกายปรับตัวก่อน
2.ระวังภัยเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
หน้าหนาวนี้หลายคนได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งในบางสถานที่พักได้มีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยกรมควบคุมโรคได้แนะนำให้ผู้ประกอบการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สให้ได้มาตรฐาน ภายในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ติดป้ายเตือน และบอกถึงวิธีการใช้งานอย่างชัดเจน สำหรับผู้ใช้ควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างอาบน้ำ เช่น เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำ หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น แต่หากห้องน้ำไม่มีเครื่องระบายอากาศ แนะนำว่าให้เปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที ก่อนที่คนอื่นจะอาบน้ำต่อ หรือหากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม โทร.สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอดเวลา
รู้ทัน...ป้องกันภัยหน้าหนาว thaihealth3.กินเหล้าแก้หนาว ความเชื่อผิดๆ
จากสภาพอากาศหนาวเย็น บางคนนิยมดื่มเหล้า เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นร่างกายแก้หนาวได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนแล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด และเป็นอันตรายต่อร่างกายมาก ได้ย้ำว่าไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เนื่องจากในช่วงแรกร่างกายจะรู้สึกร้อนวูบวาบ จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดต่ำกว่าปกติ และสูญเสียความร้อนเร็วขึ้น หากดื่มในปริมาณมากจนเมา และเผลอหลับโดยไม่ห่มผ้า หรือสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นเพียงพอ อาจทำให้เสียชีวิตได้
4.ภัยเงียบเสื้อกันหนาวมือสอง
เข้าสู่หน้าหนาวประชาชนส่วนใหญ่มักซื้อเสื้อกันหนาวมาสวมใส่   โดยเฉพาะเสื้อกันหนาวมือสอง สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ในเสื้อกันหนาวมือสองอาจมีเชื้อโรค หากไม่ทำความสะอาดก่อนอาจเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคกลากเกลื้อน โรคภูมิแพ้ และโรคผิวหนังจากพาหะนำโรค เช่น ตัวไร ตัวเรือด เห็บ หมัด และโลน ผู้ซื้อจึงควรสวมผ้าปิดจมูกขณะเลือกซื้อ เพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองที่มากับเสื้อผ้า หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ทำจากหนังสัตว์ ประเภทขนฟู เพราะทำความสะอาดยาก อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ และควรทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำมาต้มในน้ำเดือด หรือน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 15 นาที - 1 ชั่วโมง แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้ง ก่อนนำมาสวมใส่ ในส่วนของผู้ขายควรวางเสื้อผ้าไว้บนโต๊ะ ไม่วางกองกับพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีฝุ่นละออง และแมลงชนิดต่างๆ เข้าไปอาศัยในเสื้อผ้าได้
5.อุบัติเหตุทางถนน
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำการเดินทางบนท้องถนนในสภาพอากาศหนาวเย็น โดยให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังในการขับรถผ่านเส้นทางที่มีหมอกลงจัด และควันไฟปกคลุม ด้วยการเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่เปลี่ยนช่องทางจราจรกะทันหัน ไม่ขับแซงในระยะกระชั้นชิด หากมีหมอกลงจัดจนมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น ที่พักริมทาง สถานีบริการน้ำมัน รอจนหมอกบาง จึงค่อยขับรถไปต่อ โดยล่าสุดนี้ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดทำโครงการ “เปิดไฟหน้ารถ ช่วยลดอุบัติเหตุ” ด้วยการเชิญชวนทุกคนสร้างวินัยจราจรเปิดไฟหน้ารถ เพื่อลดการสูญเสียอุบัติเหตุบนท้องถนน
รู้ทัน...ป้องกันภัยหน้าหนาว thaihealth
6. ดูแลสุขภาพรับอากาศหนาว
สภาพอากาศหนาวเย็น ควรดูรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ สวมถุงมือ ถุงเท้า สร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ รวมถึงดูแลเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นพิเศษ เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย เพราะหากเจ็บป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งไม่ควรนอนในที่โล่งแจ้งโดยไม่สวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้า เพราะอากาศที่หนาวเย็นทำให้เลือดไหลเวียนช้า ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ หรือการดูแลสุขภาพง่ายๆ ตามแนวคิดของ สสส. คือ  ‘3 อ. 2 ส.’ โดย 3 อ. ประกอบด้วย ออกกำลังกายให้เหมาะสมและเพียงพอ วันละ 30 นาที การกินอาหารลดหวาน มัน เค็ม และปรับอารมณ์ให้ไม่เครียดมากเกินไป ขณะที่ 2 ส. คือ ลดการสูบบุหรี่ และลดการดื่มสุรา
หน้าหนาวนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันอันตรายและลดผลกระทบจากภัยในช่วงฤดูหนาวได้ ทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปลอดภัย

8 วิธีดูแลสุขภาพผู้สูงอายุต้านหนาว




ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงนี้อุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ทำให้อากาศหนาวเย็นลง ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้งโรคทางเดินหายใจ อย่างไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชน หรือสถานที่แออัด นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องผิวหนังด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย จึงมีแนวโน้มที่ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ควรทาโลชั่นหลังอาบน้ำทุกครั้ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้สูงอายุบางรายที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากการรับประทานอาหารดังกล่าวจะทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคปวดข้อ ซึ่งอากาศหนาว จะกระตุ้นให้โรคเกาต์มีอาการรุนแรงขึ้นได้ จึงควรรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายอยู่เสมอ
“ผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพช่วงที่อากาศหนาวเย็น ดังนี้ 
1.เลือกกินอาหารที่ให้ความอบอุ่นแต่ไขมันไม่สูง คือ อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา สัตว์ปีก และ เนื้อไม่ติดมัน เพราะร่างกายสามารถย่อยได้ง่าย 
2.ควรกินผลไม้สดมากกว่าการดื่มน้ำผลไม้ เพราะจะให้เส้นใยอาหารมากกว่า 
3.กินธัญพืชที่มีกากใยอาหารสูง เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวมันปู สมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ดร้อนจะช่วยให้เลือดมีการไหลเวียนดีขึ้น 
4.ดูแลรักษาให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าที่หนาพอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย 
5.ดื่มน้ำอุ่นวันละ 6-8 แก้ว 
6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป และต้องห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย 
7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
8.ปรึกษาแพทย์ประจำตัวเมื่อรู้สึกว่ามีความผิดปกติของร่างกาย ที่สำคัญการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของคนในครอบครัวจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตแจ่มใส ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

8 วิธีดูแลสุขภาพในช่วงหน้าหนาว ปลอดภัยไร้โรค

หลายคนดีใจที่ได้สัมผัสกับลมหนาวในประเทศไทยกันเสียที แต่สิ่งที่มากับลมหนาวๆ ไม่ได้มีแต่เรื่องดีเสมอไป เพราะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันแบบนี้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้ Sanook! Health จึงมีวิธีดูแลสุขภาพของตัวเองในช่วงอากาศหนาวๆ แบบนี้ ให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จาก กรมอนามัย มาฝากกันค่ะ

  1. เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
นอกจากอาหารที่ปรุงสุกใหม่จะสด สะอาด อร่อย เสี่ยงพบอาหารเน่าเสีย หรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วงได้น้อยกว่าแล้ว อาหารอุ่นๆ ร้อนๆ ยังดีต่อการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอีกด้วย

  1. ดื่มน้ำอุ่น น้ำสมุนไพร
น้ำอุ่น และน้ำสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน อย่าง น้ำขิง นอกจากจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกอุ่นขึ้น บรรเทาความหนาวเย็นได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตอีกด้วย

  1. ทานผัก และผลไม้รสเปรี้ยว
ผัก และผลไม้รสเปรี้ยวอย่าง ส้ม มะนาว องุ่น ส้มโอ สตรอว์เบอร์รี และอื่นๆ มักมีวิตามินซีสูง นอกจากจะช่วยต่อสู้กับโรคหวัดได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการไอ และทำให้ชุ่มคอได้อีกด้วย

  1. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
นอกจากจะทานนู่นทานนี่เพิ่มแล้ว ก็อย่าลืมทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย แม้ว่าอากาศจะเริ่มหนาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้เราทานไขมันจากสัตว์ แป้ง และน้ำตาลเข้าไปมากๆ เพื่อช่วยให้คลายหนาว เพราะจริงๆ แล้วบ้านเราก็มีอากาศหนาวเย็นได้ไม่นาน แต่ไขมัน แป้ง และน้ำตาลที่เข้ามาแล้ว กว่าจะออกไปจากร่างกายมันนานกว่ามาก ดังนั้นควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ไปเลยดีกว่า


Advertisement
  1. ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
เชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสต่างๆ จะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายร่างกายของเราให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี เสมือนเรามีทหารที่แข็งแรง และมีฝีมือคอยประจำการอยู่ที่หน้าประตูเมืองตลอดเวลา วิธีที่จะทำให้ทหารเหล่านี้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็คือการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอนั่นเอง

  1. สวมเสื้อผ้าให้หนาขึ้น
ไม่ต้องกลัวว่าคนจะหาว่าบ้าเห่อหรืออะไรทั้งนั้น ถ้ารู้สึกว่าอากาศข้างนอกหนาวเกินกว่าที่เสื้อบางๆ ที่ใส่อยู่เป็นประจำจะทนไหว ก็ให้รีบไปเปลี่ยนเป็นเสื้อแขนยาวตัวหนาๆ หรือจะใส่เสื้อกันหนาวทับอีกชั้นก็ได้ ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ คือปัจจัยหลักที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคได้ง่ายๆ

  1. ระวังการก่อไฟ
บ้านที่ใช้วิธีให้ความอบอุ่นแก่สมาชิกภายในบ้านด้วยการล้อมวงผิงไฟข้างกองไฟที่จุดเอาไว้ ขอให้ระมัดระวังให้ดี เพราะระหว่างที่ผิงไฟอยู่ อาจเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ หรือไฟลวกขึ้นได้

  1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แก้หนาว
เครื่องดื่มที่เป็นน้ำอุ่น และน้ำสมุนไพรรสชาติเผ็ดร้อนเท่านั้นที่จะช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ เพราะหากเป็นผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเต็มที่ มีโรคประจำตัวที่อาจจะรู้อยู่แล้ว หรือเป็นมาโดยตลอด แต่ไม่เคยเข้ารับการตรวจให้รู้ อย่างโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ การดื่มแอลกอฮอล์แก้หนาวอาจส่งผลให้เสียชีวิตกะทันหันได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ไปขยายหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง มือ เท้า ทำให้เลือดไหลเวียนดี ทำให้รู้สึกว่าร่างกายอุ่นเฉพาะในตอนแรก แต่เมื่อเส้นเลือดขยาย กลับทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนได้ง่ายขึ้น และฤทธิ์แอลกอฮอล์อาจทำให้ง่วง และหลับท่ามกลางความหนาวจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

แม้ว่าเมืองไทยจะไม่ได้มีอากาศหนาวเย็นยาวนานเหมือนประเทศอื่น แต่เมื่ออากาศมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดี จะได้ไม่เป็นหวัด ไม่มีไข้กันนะคะ

มาตรการดูแลสุขภาพรับหน้าหนาว

   ‘กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนปฏิบัติตาม มาตรการ รู้เตรียม-รู้ระวัง-รู้สะอาด ดูแลสุขภาพในช่วงหน้าหนาว ขณะที่สภาพอากาศแห้ง อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้
           ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ฤดูหนาว กรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะจากสภาวะอากาศเช่นนี้อาจส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มเสี่ยง คือ 1.กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต และโรคโลหิตจาง เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จะเจ็บป่วยง่าย และเมื่อป่วยแล้ว อาการมักรุนแรงกว่าประชาชนทั่วๆไป กรมควบคุมโรคจึงขอแนะนำประชาชนปฏิบัติตาม 3 มาตรการ คือ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด โดยใช้หลัก 555 ได้แก่ 5 เตรียม 5 ระวัง และ 5 สะอาด ดังนี้
           รู้เตรียม-รู้ระวัง-รู้สะอาด
          “รู้เตรียม” คือ รู้จักเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวประกอบด้วย 5 สิ่งควรเตรียม ได้แก่ 1.เตรียมเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว 2.เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น 3.เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับตนเองและครอบครัว 4.เตรียมฟังข้อมูลข่าวสาร เรื่องการประกาศภัยหนาว และ 5.เตรียมตัว โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทุกปี
          “รู้ระวัง” คือ รู้จักระวังสิ่งที่อยู่รอบตัวที่อาจก่อให้เกิดโรคและภัยสุขภาพ ประกอบด้วย 5 สิ่งควรระวัง ได้แก่ 1.ระวังการแพร่กระจายโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ 2.ระวังไม่ให้ร่างกายขาดความอบอุ่นและความชุ่มชื้น 3.ระวังไม่ดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดประสาท ทำให้มีอาการง่วงซึมเร็ว และอาจหมดสติ โดยไม่รู้ตัว หากมีโรคประจำตัวจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ 4.ระวังไม่นอนในที่โล่งแจ้งลมโกรก เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว การไหลเวียนของโลหิตช้าลง ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน หัวใจต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้ และ 5.ระวังไม่ผิงไฟในที่อับอากาศ ไม่นำเด็กเล็กเข้าใกล้ควันไฟหรือห่มผ้าคลุมศีรษะเด็กอ่อนจนหมด
 “รู้สะอาด” คือ รู้จักรักษาความสะอาดในตัวเอง 5 สิ่งควรสะอาดได้แก่ 1.ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว 2.ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย 3.ล้างมือให้สะอาด 4.มีสุขอนามัยที่ดีและสะอาด และ 5.ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
          อากาศแห้ง-ระวังโรคผิวหนังคุกคาม
          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า โรคที่เกิดจากสภาพอากาศที่แห้งก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ผิวหนังแห้ง แตก คัน และอักเสบ เป็นต้น ซึ่งสามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพราะเด็กเล็กผิวหนังของร่างกายยังไม่มีการพัฒนาสมบูรณ์เหมือนผิวหนังของผู้ใหญ่ จึงบางแต่จะชุ่มชื้นมากกว่าผู้ใหญ่ และในวัยผู้สูงอายุ จะมีเซลล์ผิวหนังที่เริ่มเสื่อมถอยตามอายุ ทำให้ผิวมีความบางและแห้งมากขึ้น ทำให้ผิวของคนทั้งสองวัยนี้มีโอกาสแห้งและแตกได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่นๆ เช่น บริเวณแก้มและใบหน้า แขนและขา เป็นต้น สำหรับการดูแลผิวหนัง ถ้าผิวเริ่มแตกหรืออากาศไม่หนาวเย็นแห้งมาก ก็สามารถจะใช้โลชั่นหรือครีมก็ได้ผลดี แต่ถ้าผิวแห้งมากๆ หรือผิวแตก คัน และอักเสบมาก อาจต้องใช้น้ำมันหรือขี้ผึ้งที่จะช่วยปกป้องความชุ่มชื้นของผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น
          เทคนิคการดูแล “ผิว”
         สำหรับการทำความสะอาด ควรดูแลผิวตามปกติ หรืออาจลดการชะล้างฟอกสบู่ลงบ้างในช่วงที่อากาศแห้งและหนาวเย็น ควรเลือกใช้สบู่เด็กที่อ่อนกว่าหรือสบู่ที่มีส่วนผสมของครีมในเนื้อของสบู่ หลังอาบน้ำเสร็จควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิวก็จะช่วยลดอาการผิวแห้งและแตกได้ ที่สำคัญเมื่อเกิดอาการคันที่ผิวหนัง อย่าเกา เพราะการเกามากๆ บ่อยๆ แรงๆ ทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ อาจเกิดเป็นแผลที่ผิวหนังได้ และทำให้เกิดการลุกลามมากขึ้น ควรหยุดหรือชะลอการเกา ด้วยการลูบเบาๆ และตัดเล็บมือให้สั้นที่สุด
  “หากประชาชนมีอาการคันและเกิดการอักเสบที่ผิวหนังอย่างรุนแรง หรือมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที และให้อาการคันหรืออักเสบบรรเทาลดน้อยลง ถ้ามีข้อสงสัยถึงอาการของโรคและวิธีปฏิบัติ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333” ดร.น.พ.พรเทพ กล่าว

          ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดแพร่. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand